รีวิวประสบการณ์การเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐบาล

หลายคนอาจสงสัยว่า นักเทคนิคการแพทย์ คือใคร ? ทำงานอย่างไร? และต้องเรียนจบอะไร ?

นักเทคนิคการแพทย์ (Medical Technologist เขียนย่อๆว่า MedTech) หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หมอแลป” ทำหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ สิ่งส่งตรวจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ เป็นต้น หรือแม้กระทั่งทำหน้าที่เจาะเลือด

(ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ให้คำจำกัดความไว้ว่า ….วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ หมายถึง วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้สิ่ง
ตัวอย่างทางการแพทย์ และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัยและการรายงานผลการตรวจเพื่อการวินิจฉัย การ
ติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรคหรือเพื่อการประเมินภาวะ
สุขภาพ )

การวินิจฉัยโรคของแพทย์แต่ละครั้งประกอบไปหลายๆ อย่าง ผลแลปก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้แพทย์ วินิจโรคได้ถูกต้องมากขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการสาขาต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น

  • งานด้านโลหิตวิทยา : ตรวจวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC; complete blood count) อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ กล้องจุลทรรศน์ แต่ปัจจุบันบางโรงพยาบาลมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในงานมากขึ้น (automate) บางโรงพยาบาลจึงลดการดู blood smear ลงไป
  • งานด้านจุลทรรศนศาสตร์ : ตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ อุจจาระ
  • งานด้านเคมีคลินิก : ตรวจวิเคราะห์ทางเคมีในเลือด เช่น ไขมัน นำ้ตาล electrolyte เป็นต้น ปัจจุบันใช้เครื่อง automate ในการตรวจวิเคราะห์
  • งานด้านภูมิคุ้มกันวิทยา
  • งานจุลชีววิทยา : เพาะเชื้อแบคทีเรีย
  • งานธนาคารเลือด : เจาะเลือดผู้จาคโลหิต หรือจัดการบริหารเลือดที่ได้รับบริจาคให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ การวิเคราะห์ตรวจความเข้ากันได้ของผู้จาคและผู้รับบริจาค ก่อนจ่ายให้แก่ผู้ป่วย

ในบางโรงพยาบาลที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ใหญ่ๆ อาจจะมีห้องตรวจวิเคราะห์มากกว่านี้เช่น งานไวรัสวิทยา งานเซลล์วิทยา งาน molecular เป็นต้น

เป็นเทคนิคการแพทย์ ต้องเรียนจบอะไร? เราเรียนจบคณะสหเวชศาสตร์ สาขาเทคนิคการแพทย์ (จะบอกว่าตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่รู้หรอกว่า ไปทำงานอะไร คืออยากเรียนแพทย์จ้า แต่คะแนนไม่ถึง เลยเอาคณะนี้แล้วกัน เราคิดว่าเด็กหลายๆคนก็อาจจะประสบปัญหานี้เหมือนกัน)

………..เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่าสำหรับประสบการณ์การทำงานเป็นนักเทคนิคการแพทย์ของเรา….หลังจากที่เรียนจบมาอย่างยากลำบาก เราตั้งเป้าหมายว่า จะทำงานในห้องแลป จะไม่ทำงานเป็นผู้แทนขายเครื่องมือแพทย์ เพราะเป็นคนไม่ค่อยชอบพูดหรือสื่อสารกับผู้อื่น เราเริ่มทำงานในแลปเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัด นครปฐม เป็นแลปที่ให้บริการตรวจแลปตามโรงงาน โรงเรียน หรือโรงแรมที่รับคนเป็นกลุ่มใหญ่ มีหน้าที่ต้องไปเจาะเลือดตามสถานที่ต่างๆ หลังจากเจาะเสร็จแล้วก็ต้องกลับมาตรวจแลปในห้องแลปต่อ ถ้าวันไหนจำนวนหน่วยเยอะ ก็จะไม่มีคน stand by สำหรับตรวจแลป เราก็ต้องมาตรวจเลือดต่อ ซึ่งบางวันกว่าจะได้กลับบ้านก็ล่วงเวลาไปถึง เที่ยงคืน ตี 1 ถ้าวันไหนออกหน่วยเช้าก็ต้องตื่นเช้าอีก เราทำอยู่ได้ 3 เดือนก็ลาออก เนื่องไกลบ้านมาก อีกทั้งเราได้มาสอบเข้าทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่ง เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดที่ขนาดโรงพยาบาลไม่ใหญ่มาก ที่สอบเข้าได้ไม่ใช่ว่าเก่ง แต่เพราะมีเรามาสมัครคนเดียว (มาพร้อมกับดวงจริงๆ)

ได้บรรจุเป็นนักเทคนิคการแพทย์ ตำแหน่งพนักงานสาธารณสุข (ไม่ใช่ข้าราชการ) ในอัตราเงินเดือน 12,000 บาท (เมื่อปี พ.ศ. 2558) ทำงานมาได้ประมาณ 6 เดือนมีการปรับฐานเงินเดือนเป็น 16,000 บาท การทำงานในโรงพยาบาลรัฐบาล เมื่อเทียบกับแลปเอกชนที่เคยอยู่ 3 เดือน เป็นงานที่เหนื่อยน้อยกว่ามาก และคิดว่า ฉันจะอยู่ที่นี่แหละไปจนเกษียณ

เดือนแรกของการทำงาน อาจเป็นเพราะช่วงทดลองงาน งานเลยไม่หนักมาก ทำงานเหมือนฝึกงาน คือ เรียนรู้งานในแต่ละห้อง สำหรับงานในห้องแลปที่นี่ จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. งาน OPD ส่วนใหญ่มีหน้าที่เจาะเลือดผู้ป่วยนอก โดยการเจาะเลือดเพื่อตรวจวิเคราะห์นี้จะเป็นการเจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ และให้คำแนะนำผู้ป่วยในการเก็บปัสสาวะ อุจจาระ หรือเสมหะ เพื่อนำส่งมาตรวจต่อในห้องปฏิบัติการ

2. งานห้องปฏิบัติการ ซึ่งประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการสาขาย่อย คือ งานโลหิตวิทยาและจุลทรรศนศาสตร์ งานเคมีคลินิก งานภูมิคุ้มกันวิทยา งานจุลชีววิทยา งานเซลล์วิทยา งาน molecular

3. งานธนาคารเลือด มีหน้าที่รับบริจาคเลือดจากผู้บริจาคโลหิต ตรวจหมู่เลือดและตรวจความเข้ากันได้ของผู้บริจาคและรับบริจาคเลือด
โดยจะต้องฝึกทุกๆ ห้องให้มีความรู้ว่ารูปแบบการทำงานของห้องปฏิบัติการนี้เป็นอย่างไร ซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลก็จะมีรูปแบบการทำงานที่ต่างออกไป ขึ้นอยู่กับเครื่องมือและการดำเนินงานนั้นๆ หลังจากฝึกงานจนครบทุกห้องเราได้ทำงานประจำที่ห้องจุลชีววิทยา

งานจุลชีววิทยา คือ? งานจุลชีววิทยาหรือเราจะขอเรียกสั้นๆ ว่า งานแบค เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเชื้อแบคทีเรีย หากเป็นต้องการเพาะเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา ต้องส่งแลปนอกที่เปิดให้บริการเพาะเชื้อดังกล่าว เนื่องจากใช้อาหารเลี้ยงเชื้อคนละชนิด และมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน หากถามว่าชอบงานนี้ บอกเลยว่า ไม่ เพราะต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันทั้งแมส (การใส่แมสในยุคปัจจุบันคงเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในสถานการณ์โควิด แต่สำหรับเมื่อก่อนจะบอกว่ามันร้อนและค่อนข้างอึดอัด) หมวกคลุมผม เสื้อกาวน์ ถุงมือ เนื่องจากมันร้อนมาก หรืออาจเป็นเพราะแอร์ที่ห้องแบคมักจะเสียบ่อยๆ 555 นอกจากร้อนแล้วห้องแบคมักจะมีกลิ่นเฉพาะห้อง ซึ่งเป็นกลิ่นจากการเพาะเชื้อแบคทีเรียนั่นเอง แต่นั่นยังไม่แย่เท่ากับคุณต้องทำงานกับสิ่งส่งตรวจ ที่เป็นของเสียที่ขับออกจากร่างกาย เช่น เสมหะ ที่เหนียวๆ ข้นๆ เขียวๆ ปัสสาวะ อุจจาระ (การทำงานด้านนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้) แต่พอเราเริ่มทำงานไปสัก 1 เดือนบวกกับตอนฝึกงานเราก็เจออยู่แล้ว ดังนั้นมันจะเริ่มชินไปเอง พอทำงานไปนานขึ้น ยิ่งเสมหะข้นเหนียว จะบ่งบอกได้เบื้องต้นว่า เสมหะที่เก็บมาค่อนข้างมีคุณภาพ มาจากทางเดินหายใจส่วนล่างจริงๆ
งานแบคเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้และทักษะค่อนข้างสูง เนื่องจากงานส่วนใหญ่เป็นงาน mannule จะต้องอาศัยประสบการณ์ในการจดจำรายละเอียดเชื้อ ว่าควรลง biochem กลุ่มไหนและ biochem ที่อ่านได้นั้น identify เชื้อเป็นอย่างไร ซึ่งการจะได้ผลเพาะเชื้อของคนไข้แต่ละราย ต้องใช้เวลา 3-5 วัน หรือบางรายอาจใช้เวลาเป็นอาทิตย์เนื่องจากเป็นเชื้อที่เพาะขึ้นยาก นอกจากนี้โปรแกรมการลงผลการตรวจวิเคราะห์ก็เป็นอะไรที่ยุ่งยากและชวนปวดหัวมาก

ภาพบรรยากาศและลักษณะงานจุลชีววิทยา Photo by ขวัญข้าว อิ่มวาสนา
ลักษณะการทำงานจุลชีววิทยา Photo by ขวัญข้าว อิ่มวาสนา

เดือนที่ 3 เริ่มมีการอยู่เวร บ่ายและเวรดึก โดยส่วนตัวชอบนะ อยู่เวร (ในช่วงแรก) เพราะก็ไม่ได้ไปไหน อีกทั้งอยู่หอคนเดียว ทำงานแปปเดียวก็ หมดเวรแถมยังได้เงินเพิ่มอีก ขอบอกว่าหากคุณเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐบาล สิ่งที่คุณจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การอยู่เวร เพิ่มเติมอาจจะมีงานเอกสารที่ต้องรับผิดชอบ เวลาการทำงานที่นี่แบ่งเป็นเวลา ดังนี้
1. 8.00 – 16.00 น. เวรเช้าและเป็นเวลาทำงานปกติของเจ้าหน้าที่ในวันจันทร์-ศุกร์
2. 16.00-00.00 น. เวรบ่าย โดยมีเจ้าหน้าที่ทำงาน 2 คน ในฝั่งแลป และเจ้าหน้าที่ 1 คน ฝั่งงานธนาคารเลือด
3. เวรดึก 00.00 – 08.00 น. มีเจ้าหน้าที่ทำงานในฝั่งแลปและธนาคารเลือดอย่างละ 1 คน
4. เวรรุ่งอรุณ จะเริ่มทำงานตั้งแต่ 6.30 – 8.00 โมงเช้า มีเจ้าหน้าที่ทำงาน 3 คน เพื่อลดความแออัดในช่วงเวลาเช้า ซึ่งขนาดขยายเวลาเจาะเลือดตั้งแต่ 6.30 น. คนไข้ก็ยังเยอะอยู่ดีในช่วง 8.00 -10.00 น.

1 ปีของการทำงาน เริ่มชินกับการทำงานห้องแบค และการอยู่เวร มีการเอกสารที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ซึ่งงานเอกสารก็เป็นเอกสารที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานห้องปฏิบัติการ การได้รับการรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการ นี้จะเป็นตัวรับรองได้ว่า ผลแลปแต่ละตัวนั้นมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ (สำหรับที่นี่ได้รับการรับรองคุณภาพจากสภาเทคนิคการแพทย์: Laboratory Accreditation) แต่ความปวดหัวมันจะตกกับผู้ปฏิบัติงาน เพราะนอกจากจะต้องทำงาน routine ประจำวันแล้ว ซึ่งบางวันงานน้อยบ้าง และส่วนใหญ่งานเยอะมาก ยังต้องหาเวลามาทำงานเอกสารที่แต่ละคนได้รับมอบหมาย ถึงการทำงานเหนื่อยบ้างแต่ก็เป็นเรื่องปกติของการทำงานในโรงพยาบาล

ทำงานมาได้ 5 ปี มีการปรับตำแหน่งเป็นพนักงานราชการ เงินเดือนขึ้นเป็น 19,000 บาท (ไม่รวมค่า OT)แต่ปรับตำแหน่งได้ไม่ถึง 1 ปี ก็ได้ปรับตำแหน่งเป็นข้าราชการ เนื่องจากมีสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด เราเชื่อว่าคนที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐบาล เป้าหมายสูงสุด คือ การบรรจุเป็นเป็นข้าราชการ เพื่อสิทธิประโยชน์ ของครอบครัวและเรา + เงินเดือนจะปรับขึ้นปีละ 2 รอบ (ซึ่งหากเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและพนักงานราชการเงินเดือนจะปรับขึ้นปีละ 1 ครั้ง) แต่!!!!!! เงินเดือนเราลดเหลือ 15,000 บาท ดิชั้นทำงานมา 5 ปี แต่เงินเดือนกลับลด โดยปกติหากคุณทำงานมาหลายปี แล้วบรรจุเป็นข้าราชการเค้าจะนำเงินที่คุณปรับขึ้นแต่ละปีมานับรวมด้วย เช่น เงินเดือนขึ้นปีละ 500 บาทจากตำแหน่งก่อนหน้า คุณทำงานมา 5 ปี จะได้เงินเพิ่ม 2,500 บาทจากเงินเดือนเริ่มแรก เค้าก็นำเงินตรงนี้แหละ มาเพิ่มจากเงินเดือนข้าราชการที่คุณเพิ่งได้บรรจุ เป็น 15,000 + 2,500 บาท = 17,500 บาท นี่แหละ เงินเดือนข้าราชการเริ่มแรกที่คุณจะได้รับ แต่ไอ้เราดันเพิ่งได้บรรจุเป็นพนักงานราชการ เงินยังไม่มีการปรับเพิ่มเนื่องจากยังทำงานในตำแหน่งนี้ไม่ถึงปี
ดังนั้นเงินเดือนที่เราได้รับหลังได้บรรจุเป็นข้าราชการ คือ 15,000 บาท ไม่นับระยะเวลาตำแหน่งก่อนหน้าที่เราทำงาน ฮือๆๆ อยากจะร้องไห้ ทำงานมาหลายปี เงินเดือนได้15,000 บาท แต่เอาวะ อย่างน้อยเงินก็ปรับขึ้นปีละ 2 ครั้ง

อบรมข้าราชการ

ด้วยสถานการณ์การระบาดโควิดที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่า นี่กูทำงานหนักเกินไปรึเปล่า? มันคุ้มกับเงินที่ได้รับหรือเปล่า ? ช่วงโควิดระบาดรอบแรก กระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดจำเป็นต้องมีห้องปฏิบัติการ molecular สำหรับตรวจหาเชื้อ corona virus 2019 (Covid 19) ความบรรลัยเริ่มมาเยือนจ้า …… หลังจากโรงพยาบาลเริ่มเปิดบริการตรวจหาเชื้อ Covid 19 ด้วยวิธี PCR ระยะการตรวจ PCR ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง/ 94 test ไม่รวมระยะเวลาออกผลคนไข้ ซึ่งการออกผลคนไข้แต่ละราย จะออกทีละราย เนื่องจากระบบยังไม่สามารถ link ผล จากเครื่องตรวจวิเคราะห์สู่โปรแกรมออกผลได้อัตโนมัติ ดังนั้นหากพบคนไข้ที่พบเชื้อ Covid เราต้องมากรอกผล CT ของคนไข้และต้องออกผลใน 2 โปรแกรม คือ โปรแกรมออกผลของโรงพยาบาล และโปรแกรม Colab ซึ่งจะ link ผลแลป Covid ไปให้กระทรวงสาธารณสุข ช่วงแรกการติดเชื้อยังไม่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตามมีการตรวจเชิงรุก กรณีพบผู้ติดเชื้อ 1 ราย อาจมีคนไข้เสี่ยงติดเชื้อโควิดจำนวนมาก โดยติดตามว่าผู้ป่วยมีการสัมผัสผู้ใดบ้าง ซึ่งต้องตรวจผู้สัมผัสทั้งหมดที่มีความเสี่ยงสูง และหากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงติดเชื้อ ก็ต้องตรวจผู้สัมผัสของผู้เสี่ยงสูงที่ติดเชื้ออีกเป็นลำดับไป จากสถิติที่ตรวจสูงสุดเคยตรวจถึง 6-7 รอบPCR/วัน ประมาณ 600 กว่าราย/วัน ทำงานตั้งแต่ 8 เช้าถึงเที่ยงคืน ติดต่อประมาณ 2-3 เดือน (ยังไม่รวมเวรที่แต่ละคนต้องอยู่ประจำ) ถือว่าหนักมาก แต่ใช่ว่าผ่านไป 2-3 เดือนแล้วงานโควิดจะสบายขึ้น งานโควิดก็ตกประมาณร้อยกว่ารายเกือบทุกวัน บางวันโชคร้ายหน่อยก็มี cluster เกือบ400-500ราย/วัน ก็มี การตรวจ PCR โควิดของที่นี่จะแบ่งเวรการทำงาน 2 คนต่อวัน เนื่องจากยังมีงานประจำอื่นๆ ที่ยังต้องทำอยู่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการระบาดโควิดอย่างหนัก ปริมาณงานมีจำนวนมาก จึงต้องเพิ่มคนทำงาน ในช่วงแรกเราอาศัยการช่วยเหลือกัน คืองานห้องไหนงานน้อยก็มาช่วยกันออกผล หรือช่วยเตรียมนำ้ยา PCR แต่ในช่วงหลังมีการจัดเวรเพิ่ม แต่สุดท้ายโควิดก็ผ่านไป ถึงจะมีการระบาดแต่ก็ไม่หนักเท่าปี 64 แลปเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ หลังจากนี้เราเริ่มกลับมาทบทวนกับตัวเองว่า เราจะต้องเจอกับการอยู่เวรไปจนเกษียณรึเปล่า หรือเราเริ่มแก่แล้ว เริ่มล้าเมื่ออยู่เวรติดต่อกันหลายเวร ช่วงเทศกาล มักจะไม่ได้หยุด หรือหยุดน้อย อีกทั้งเรามีสามีเป็นชาวต่างชาติ การไปต่างประเทศและหยุดยาวติดต่อหลายวันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากเรามีเวรทุกเดือนตกเดือนละ 10-15 เวร/เดือน การลาติดต่อกันอาทิตย์ สองอาทิตย ์เวรที่เราต้องอยู่จะไปตกเป็นภาระของเพื่อนร่วมงาน ยิ่งช่วงที่มีวันหยุดยาวจะเป็นช่วงที่จำนวนเวรเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงปรึกษากันกับครอบครัวเพื่อลาออกจากข้าราชการ เพื่อไปหาประสบการณ์อย่างอื่นบ้าง เพราะตลอดเวลา 7 ปีที่ผ่านชีวิตมีแต่แลป ไปเที่ยวบ้างกับเพื่อน กับครอบครัว แต่ก็แลกกับการอยู่เวรที่ติดต่อกัน เพื่อให้มีช่วงวันหยุดที่จะไปเที่ยวติดต่อ 2-3 วัน

หมายเหตุ: การทำงานในห้องแลปไม่ใช่ทุกที่มีเวรนอกเวลา ส่วนใหญ่หากทำงานในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งจะมีเวลานอกเวลา 24 ชั่งโมง

ภาพบรรยากาศการทำงานตรวจ PCR Covid 19 photo by Zuin, Buko, llou&Im
ภาพบรรยากาศการทำงานตรวจ PCR Covid 19 photo by Zuin, Buko, llou&Im
ภาพบรรยากาศการทำงานตรวจ PCR Covid 19 photo by Zuin, Buko, llou&Im

การทำงานแลปก็ให้อะไรกับเราหลายๆ อย่าง อันดับแรกเป็นอาชีพที่ทีเกียรติ มั่นคง เพราะเป็นข้าราชการมีสิทธิ์เบิกค่ารักษาพยาบาล เบิกค่าเล่าเรียนของลูก เงินเดือนขึ้นทุกปี มีบำนาญใช้ตอนเกษียณอายุ (กู้เงินก็ง่ายด้วยจ้า) ถามว่ารวยมั้ย บอกเลยว่าไม่ (หรือเป็นเพราะเราชอบเอาเงินไปเที่ยว เลยไม่มีเงินเหลือเก็บมากนัก) ถ้ารวยก็ควรทำอาชีพเสริม แต่จะทำอย่างไรล่ะ ในเมื่อเวลาจะนอนกูยังจะไม่มีเลย (ปล. หลายคนก็ทำอาชีพเสริมได้ เช่น เปิดคลินิกตรวจแลป ขายของ ) แต่อาชีพนี้ก็สามารถเลี้ยงคุณและครอบครัวได้อย่างสบาย

สอง อาชีพสอนให้รู้จักความเสียสละ เราต้องเสียสละเวลา แรงกาย บางครั้งเหนื่อย บางครั้งท้อ แต่ต้องทำเพราะมันเป็นหน้าที่โดยเฉพาะช่วงมีโรคระบาดแต่สิ่งที่แลกมาก็มาคือสุขภาพ แต่ก็ได้เงินเพิ่มจากการทำงานนอกเวลา

สาม แลปทำให้เราเป็นคนรอบคอบ และมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากการตรวจวิเคราะห์ของเรามีผลต่อคนไข้ทั้งสิ้น การออกผลผิดหรือการออกผลล่าช้ามีผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และมีผลต่อความเป็นความตายของคนไข้ทั้งสิ้น

สี่ เพื่อนร่วมงานที่นี่อยู่กันเป็นเหมือนครอบครัว บางครั้งการทำงานก็เหนื่อยและเครียดแล้ว แต่เพื่อนร่วมงานที่นี่พร้อมจะช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องอื่นๆ เพราะเราอยู่แบบครอบครัว มีอยู่ช่วงนึง พ่อเราไม่สบายหนัก เราต้องเทียวกลับบ้านเพื่อมาดูแลพ่อ ทุกอาทิตย์ บางครั้งพ่ออาการทรุดหนักต้องกลับบ้านกะทันหัน ก็มีเพื่อนร่วมงานที่ช่วยอยู่เวรให้ และหัวหน้าที่อนุญาติให้ลางานกะทันหัน ซึ่งหากเพื่อนร่วมงานหรือแม้แต่หัวหน้าไม่เข้าใจ เราก็ไม่สามารถลาหยุดได้

ประสบการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ขอยำ้ว่าเป็นสิ่งที่เราเองประสบพบเจอมา บางคนอาจจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป เราหวังว่าเพื่อนๆที่เข้ามาอ่านจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย